ตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมาธุรกิจโลจิสติกส์กลับมาคึกคักมากขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสามารถกลับมาเร่งผลิตและกระจายสินค้าไปสู่มือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลน ทั้งยังได้รับปัจจัยหนุนเฉพาะของธุรกิจที่มาจากการพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ เส้นทางที่มีการขนส่งที่คึกคักเป็นเส้นทางเชื่อมโยงออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เส้นทาง R3A เชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน เส้นทาง R8 R9 และ R12 เชื่อมโยงไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน
ภาครัฐมีแผนการขยายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และรองรับปริมาณขนส่งระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยเสริมโอกาสในการขยายตลาดของธุรกิจไทย รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมตัดผ่าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์โอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะ โดยการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในประเทศได้นำพาความเจริญและส่งเสริมเศรษฐกิจในภาคต่างๆของไทย อีกทั้งประเทศไทยต้องการผลักดันบทบาทในการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน จากจุดแข็งในด้านทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นเส้นทางผ่านที่เชื่อมถึงเกือบทุกประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน
ด้วยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์นี้ ส่งผลให้ไทยมีบทบาทสูงในด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมทั้งสามารถส่งต่อไปยังประเทศข้างเคียง เช่น เวียดนาม และมณฑลตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านด่านชายแดนสำคัญที่กระจายตัวอยู่ตามขอบชายแดนในภาคต่างๆของไทย
การค้าชายแดนยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสะพานข้ามแม่น้ำ อาทิ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และเชียงราย ซึ่งจังหวัดเหล่านี้เป็นประตูตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น เส้นทาง R3A ที่เชื่อมการคมนาคมระหว่างไทย ลาว และจีน และเส้นทาง R1 R9 R12 ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในการขนส่งระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งนอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพแล้ว การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้กรอบ AEC ก็จะยิ่งเอื้ออำนวยให้การไหลเวียนของโลจิสติกส์ในภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยจะได้รับผลดีจากความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ผ่านเส้นทางทางบกที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของการค้าและการลงทุนภายใต้ AEC แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโลจิสติกส์ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากหลายๆด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากการแข่งขันที่จะสูงขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นธุรกิจต่างชาติที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีที่เพียบพร้อม
กลยุทธ์ในการปรับตัวอาจมีหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับเป้าหมายทางธุรกิจและทรัพยากรของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเติมเต็มช่องว่างในการให้บริการได้อย่างครบวงจรในระดับเดียวกับบริษัทต่างชาติ หรืออาจวางตำแหน่งการตลาดสร้างความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการบริการเฉพาะด้าน เช่น การขนส่งและจัดเก็บเคมีภัณฑ์หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการรับช่วงให้บริการกับบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ
ธุรกิจโลจิสติกส์ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากความต้องการใช้บริการขนส่งในภาคการเกษตร ก่อสร้าง และค้าปลีก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าจีดีพีในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ในปี 2555 จะเพิ่มเป็น 569,774-578,732 ล้านบาท หรือขยายตัว 6.3-8% จากมูลค่า 536,059 ล้านบาทในปี 2554
นอกจากนี้ในปี 2556 จะมีการเปิดเสรีสาขาบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาบริการที่มีการเร่งรัดเปิดเสรีภายในกรอบ AEC จากการที่จะมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางอาเซียน ดังนั้น นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคโดยใช้เส้นทางผ่านไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีแนวโน้มขยายตัวสูงนับจากนี้และหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคที่จะพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆในอาเซียนไม่เพียงแต่สนับสนุนการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคด้านการค้าเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนการเชื่อมโยงของแหล่งอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการลงทุนในอนาคตอีกด้วย
แหล่งข้อมูล: http://www.thai-aec.com